ปั๊มลมลูกสูบ (PISTON AIR COMPRESSOR) คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ปั๊มลมลูกสูบ (PISTON AIR COMPRESSOR) คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
ปั๊มลมลูกสูบคืออะไร ปั๊มลมในท้องตลาดมีหลากหลายรูปแบบ แต่ปั๊มลมที่เราจะคุ้นหน้าคุ้นตาเห็นกันบ่อยๆ ใช้งานบ่อยๆ ก็คือปั๊มลมลูกสูบ (PISTON AIR COMPRESSOR) หรือปั๊มลมแบบสายพานนั่นเอง
ส่วนประกอบสำคัญของปั๊มลมลูกสูบมีหน้าที่อะไรบ้าง ?
มอเตอร์
มอเตอร์ (MOTOR) มอเตอร์ถือเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของขั้นตอนผลิตลมของปั๊มลม เมื่อเราเปิดสวิทช์ปั๊มลม กระแสไฟฟ้าก็จะวิ่งเข้ามอเตอร์ มอเตอร์ก็จะหมุนเพื่อขับเคลื่อนสายพานเพื่อหมุนพู่เลย์ของหัวปั๊มลม
เพรสเชอร์สวิทซ์
เพรสเชอร์สวิทช์ (PRESSURE SWITCH) ทำหน้าที่สั่งให้ปั๊มลมทำงาน เมื่อแรงดันในถังลมลดมาถึงจุดต่ำสุดที่ตั้งไว้ และจะตัดลม หรือสั่งหยุดการทำงานเมื่อแรงดันสูงถึงจุดที่ตั้งไว้เช่นกัน ซึ่งเราสามารถเพิ่มหรือลดแรงดันในการทำงานได้ที่เพรสเชอร์สวิทช์ วิธีตั้งหรือปรับแรงดันปั๊มลม ให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงสามารถดูได้ที่นี้ https://www.siriwat1976.com/knowledge-how-to-adjust-pressure-switch-on-air-compressor
หัวปั๊มลม
หัวปั๊มลม (AIR COMPRESSOR PUMP) เป็นส่วนสำคัญเพื่อใช้ในการผลิตลม ภายในหัวปั๊มลมจะมีชิ้นส่วนมากมาย ในการผลิตลม ไม่ว่าจะเป็น วาล์ว ลูกสูบ ก้านสูบ ข้อเหวี่ยง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหัวปั๊มลมแต่ละขนาด ก็จะผลิตลมได้มากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจำนวนของลูกสูบ และขนาดของลูกสูบด้วย
หัวปั๊มลมตามมาตรฐาน จะมีขนาดและจำนวนลูกสูบดังนี้
หัวปั๊มลม ½ แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 51 มม. จำนวน 2 หัว
หัวปั๊มลม 1 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 65 มม. จำนวน 2 หัว
หัวปั๊มลม 2 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 65 มม. จำนวน 3 หัว
หัวปั๊มลม 3 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 80 มม. จำนวน 2 หัว
หัวปั๊มลม 5 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 80 มม. จำนวน 3 หัว
หัวปั๊มลม 7.5 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 100 มม. จำนวน 2 หัว
หัวปั๊มลม 10 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 100 มม. จำนวน 3 หัว
หัวปั๊มลม 15 แรงม้า มีลูกสูบเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 120 มม. จำนวน 3 หัว
หัวปั๊มลมหลายขนาด
หม้อกรองและไส้กรอง
หม้อกรองและไส้กรอง (FILTER INLET ASSEMBLY) ทำหน้าที่คอยดักฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในบริเวณกระบอกสูบ เพราะเศษฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้จะเข้าไปทำลายลูกสูบ กระบอกสูบ รวมถึงอาจจะไปอุดตันบริเวณวาล์ว ทำให้ปั๊มลมทำงานเสื่อมเร็วขึ้น วิธีดูแลรักษาให้หมั่นแกะหม้อกรองและเอาไส้กรองออกมาเป่าเศษฝุ่นที่เกาะไปออกอยู่เสมอ ควรทำประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
เช็ควาล์ว
เช็ควาล์ว (CHECK VALVE) เช็ควาล์กันกลับ ทำหน้าที่ให้ลมที่ผลิตได้จากหัวปั๊มลมลงสู่ถังพักลม และป้องกันลมจากถังพักลมให้ย้อนกลับเข้าไปในหัวปั๊มลม
เซฟตี้วาล์ว
เซฟตี้วาล์ว หรือ โปโล (SAFETY VALVE) มีหน้าที่ค่อยเป่าลมออกจากถังลม เมื่อแรงดันในถังลมสูงเกินกว่าที่ตั้งไว้ เช่นตั้งแรงดันที่เพรสเชอร์สวิทช์ตัดการทำงานที่แรงดัน 8 บาร์ แต่เพรสเชอร์สวิทช์ไม่ทำงาน ปั๊มลมจึงผลิตลมต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลให้ถังลมระเบิดได้ แต่ถ้าเราตั้งเซฟตี้วาล์วหรือโปโล ไว้ที่แรงดัน 10 บาร์ เซฟตี้วาล์วก็จะโบลว์ลมออกมาจากถัง เพื่อไม่ให้แรงดันสูงเกินไปจนถังลมระเบิดนั่นเอง
บอลวาล์ว
บอลวาล์ว (BALL VALVE) โดยปกติแล้วน้ำกับอากาศจะเป็นของคู่กัน เมื่อปั๊มลมทำงานไปได้สักพักหนึ่ง ก็จะเกิดหยดน้ำภายในถังลม ซึ่งความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประเทศไทยค่อนข้างสูง จึงทำให้น้ำในถังลมเพิ่มขึ้นเร็ว หากไม่ปล่อยน้ำออกจากถังลมก็จะทำให้พื้นที่จุลมลดน้อยลง รวมถึงอาจจะมีน้ำปนเปื้อนออกไปในระบบลม เพราะฉะนั้นต้องหมั่นปล่อยน้ำออกจากถังลมบ่อย ๆ หรือทำทุกวันหลังเลิกใช้งาน วิธีเดรนน้ำออกจากถัง ดูได้ที่ https://www.siriwat1976.com/knowledge-drain-the-water-from-air-tank/
เพรชเชอร์เกจ์
เพรชเชอร์เกจ์ (PRESSURE GAUGE) ทำหน้าที่คอยบอกแรงดันที่อยู่ในถังลม โดยจะบอกแรงดันของในในรูปแบบ kg/cm2 (บาร์) และ C.F.M. ปอนด์ โดย มีวิธีแปลงค่าจาก บาร์เป็นปอนด์ หรือ ปอนด์เป็นบาร์ ดังนี้ 1 kg/cm2 = 14.5 psi
1 PSI = 0.068 kg/cm2
ตัวอย่าง
1.) หากอุปกรณ์ลม A ต้องการลม 80 psi จะเท่ากับ กี่ kg/cm2 ก็ให้นำ 80 คูณด้วย 0.68 ก็จะได้ประมาณ 5.44 kg/cm2
2.) หากอุปกรณ์ลม B ต้องการลม 6 kg/cm2 จะเท่ากับกี่ psi เราก็นำ 6 คูณด้วย 14.5 จะเท่ากับ 87 psi โดยประมาณ
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3B2xeWA
ตาแมว
ตาแมว (OIL SIGHT GLASS) ตาแมวปั๊มลม มีไว้เพื่อคอยเช็คระดับน้ำมันเครื่องปั๊มลมว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ คุณภาพของน้ำมันเครื่องเป็นอย่างไร ถ้าหากน้ำมันมีสีดำแล้วก็ควรจะถ่ายออกที่ตัวถ่ายน้ำมันที่ติดตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆกับตาแมว สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายน้ำมันเครื่องได้ที่ https://bit.ly/3uDKsI2
ตัวหายใจ
ตัวหายใจ (BREATHER CRANKCASE) ชิ้นส่วนเล็กๆทำด้วยพลาสติก แต่สำคัญมาก เพราะตัวหายใจจะช่วยให้มีการไหลเวียนเข้าออกของอากาศภายในหัวปั๊มลม ช่วยลดความร้อนและแรงดัน ถ้าหากเราเอาวัสดุอื่น หรืออุปกรณ์อื่นมาอุดแทน อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่นหัวปั๊มลมระเบิดได้ หรือถ้าตัวหายใจหลุดหาย ก็อาจจะทำให้น้ำมันเครื่องกระเด็นออกมาทางรูหายใจได้
ถังลม
ถังลม (AIR TANK) เป็นถังเหล็ก ที่มีขนาดและความหนาแตกต่างกันไป ควรสัมพันธ์กับขนาดของหัวปั๊มลม ถ้าหากถังลมมีขนาดเล็กเกินไป ก็อาจจะใช้งานต่อเนื่องได้ไม่นาน แต่ถ้าหากถังลมมีขนาดใหญ่เกินไป ก็อาจจะส่งผลให้ปั๊มลมทำงานหนักและเสียหายก่อนเวลาอันสมควร
ปั๊มลมลูกสูบหรือปั๊มลมสายพานมีคุณสมบัติเด่นอะไรบ้าง
แข็งแรงทนทาน ปั๊มลมลูกสูบ สามารถทำงานต่อเนื่องได้นานกว่าปั๊มลมโรตารี่และปั๊มลมเสียงเงียบ หากต้องการใช้งานต่อเนื่องมากกว่า 2 ชั่วโมง ขอแนะนำว่าควรใช้ปั๊มลมลูกสูบดีกว่า
มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ ½ แรงม้า จนถึง 15 แรงม้า ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่งานช่างเล็กๆ น้อยๆ จนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กหรือศูนย์บริการรถยนต์เป็นต้น
ดูแลรักษาง่าย เพียงแค่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องของปั๊มลมโดยเฉพาะ ทุก 500 ช.ม. ถ่ายน้ำออกจากถังลมทุกวันหลังเลิกใช้งาน และรักษาความสะอาดบริเวณหัวปั๊มลมไม่ให้มีคราบดำหรือฝุ่นเกาะซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ดูแลรักษาง่าย
สรุป
ปั๊มลมลูกสูบ คือปั๊มลมชนิดหนึ่งที่พวกเราอาจจะเคยเห็นผ่านตาแล้วนั่นเอง ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของความทนทานและการทำงานต่อเนื่องได้นานกว่าปั๊มลมประเภทอื่นๆนั่นเอง
ติดต่อสอบถามและปรึกษาระบบลมได้ที่
1. Hotline : 081-899-5566
2. Inbox :https://m.me/somaxcompressor
3. Line Official : @somax
4. E-Mail : telesales@siriwat1976.com