6 ข้อควรระวังเกี่ยวกับปั๊มลม

อัพเดทล่าสุด: 2 ก.พ. 2024
913 ผู้เข้าชม
6 ข้อควรระวังเกี่ยวกับปั๊มลม

6 ข้อควรระวังเกี่ยวกับปั๊มลม

ปั๊มลมเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ถ้าหากใช้ผิดวิธี หรือใช้งานโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน วันนี้แอดมินรวบรวมข้อควรระมัดระวังต่างๆ เกี่ยวกับปั๊มลมมาให้ดังนี้

 



1.) ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณใบพัดหรือสายพาน

ขณะปั๊มลมทำงาน อุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน มักจะเกี่ยวข้องกับสายพานและใบพัด ซึ่งขณะที่ปั๊มลมทำงานนั้น ใบพัดและสายพานหมุนด้วยความเร็วสูง หากเราสัมผัสโดนก็ย่อมเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นได้ หรือเราเข้าใกล้แล้วชายเสื้อถูกดูดเข้าไปพันสายพานหรือใบพัด

 



2.) ไม่ควรสัมผัสบริเวณมอเตอร์และหัวปั๊มลมขณะใช้งาน

เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความร้อนสูงมาก การสัมผัสพื้นผิวบริเวณหัวปั๊มลมหรือมอเตอร์โดยตรงจะทำให้เกิดแผลพุพองจากความร้อนได้ เพราะฉะนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องสัมผัสควรใส่ถุงมือเพื่อป้องกันหรือหยุดเครื่องปั๊มลมแล้วรอให้หัวปั๊มลมและมอเตอร์เย็นก่อนจะดีกว่า

 



3.) ไม่ควรปรับแรงดันปั๊มลมจนสูงเกินไป

ปั๊มลมแต่ละประเภท แต่ละขนาด โดยปกติแล้วจะมีมาตรฐานในการรองรับแรงดันในการใช้งานที่ต่างกันไป ปั๊มลมลูกสูบขนาดใหญ่จะรองรับแรงดันได้สูงกว่าปั๊มลมขนาดเล็ก ปั๊มลมที่มีหัวปั๊มลมขนาด 3 แรงม้าขึ้นไปสามารถรองรับแรงดันได้ประมาณ 10-14 บาร์/140-200 ปอนด์ ปั๊มลมโรตารี่และออยฟรี ก็ไม่ควรปรับแรงดันเกิน 8 บาร์/114 ปอนด์

จะเกิดอะไรขึ้นหากปรับแรงดันปั๊มลมสูงเกินไป?

• ข้อต่อและชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับแรงดันสูง หากปรับแรงดันสูงเกินมาตรฐาน อาจส่งผลให้ชิ้นส่วนต่างๆ ของปั๊มลมเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
• เมื่อปรับแรงดันสูงขึ้น ปริมาณลมที่ได้ก็จะน้อยลง 2 สิ่งนี้เป็นสมการที่ผู้ใช้ปั๊มลมต้องทำความเข้าใจเป็นอย่างดี หลายครั้งที่ปั๊มลมผลิตลมได้ไม่พอ แต่ผู้ใช้แก้ปัญหาโดยการปรับแรงดันสูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ได้ลมน้อยและช้ากว่าเดิม รวมถึงทำให้ปั๊มลมทำงานหนักจนเสียหายมากขึ้น
• ในกรณีที่ปั๊มลมมีสภาพเก่าถังลมก็จะเริ่มผุและบางลง ภายนอกอาจจะดูปกติ แต่ภายในถูกสนิมกัดกร่อน เพราะฉะนั้นการใช้แรงดังที่สูงเกินไป ก็เปรียบเสมือนมีระเบิดเวลาตั้งอยู่รอวันปะทุนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าหากปั๊มลมเก่ามากแล้ว ควรตรวจสอบและใช้งานอย่างระมัดระวังเสมอ

 



4.) ไม่ควรติดตั้งปั๊มลมไว้ในที่ที่อากาศร้อน

ปั๊มลมหากต้องทำงานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูง จะทำให้ได้ปริมาณลมออกมาน้อยลง เพราะมวลอากาศที่ร้อน จะมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศที่เย็น ปั๊มลมควรติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 40 องศา และควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงอากาศที่ร้อนเกินไป จะทำให้ชิ้นส่วนและข้อต่อต่างๆของปั๊มลมเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร อาจจะกรอบหรือแตกหักได้ง่าย

 



5.) หลีกเลี่ยงความชื้น

ปั๊มลมเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ไฟฟ้าช่วยในการขับเคลื่อนให้ทำงาน เพราะฉะนั้น การอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้น ย่อมส่งผลเสียให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ เพรสเชอร์สวิทช์ ซึ่งถ้าหากมีความชื้นเยอะ ก็จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้เสียหายได้ และปั๊มลมก็จะมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็ก ซึ่งการอยู่ในที่ที่มีความชื้นก็มักจะก่อให้เกิดสนิมขึ้นตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวปั๊ม ข้อต่อ สนิมภายในถัง และบริเวณอื่นๆ การติดตั้งปั๊มลมในที่ความชื้นสูงก็จะส่งผลให้มีน้ำค้างอยู่ในถังลมเยอะกว่าปกติ ถ้าหากไม่ถ่ายน้ำออกจากถังลมบ่อยๆ ก็จะทำให้ความจุของปั๊มลมลดน้อยลง ถ้าหากเลี่ยงพื้นที่ที่มีความชื้นสูงไม่ได้ ก็ควรถ่ายน้ำออกจากปั๊มลมอย่างน้อยที่สุดวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งในกรณีที่ใช้งานต่อเนื่องทั้งวัน

 



6.) มอเตอร์หมุนถูกทางหรือไม่

หมั่นสังเกตว่ามอเตอร์หมุนถูกทิศหรือไม่ ปกติที่หัวปั๊มลมลูกสูบที่ได้มาตรฐานจะมีลูกศรชี้เสมอว่าใบพัดและมอเตอร์ควรหมุนไปทางใด เหตุการณ์ที่มอเตอร์หมุนผิดทาง มักจะเกิดกับปั๊มลมที่ใช้ไฟ 3 เฟส เมื่อช่างติดตั้งใส่สายไฟสลับ ก็จะทำให้มอเตอร์หมุนผิดทางได้ ควรให้ผู้ที่มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องระบบไฟฟ้าช่วยเหลือในการติดตั้งและเมื่อติดตั้งปั๊มมลมเสร็จแล้ว ก็ควรตรวจสอบว่ามอเตอร์หมุนถูกทางหรือไม่

สรุป

ข้อควรระวังเกี่ยวกับปั๊มลมเหล่านี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ทีมช่างศิริวัฒน์พบเจอบ่อยๆ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องใช้ปั๊มลมทุกท่าน

ติดต่อสอบถามและปรึกษาระบบลมได้ที่
1. Hotline : 081-899-5566
2. Inbox : https://m.me/somaxcompressor 
3. Line Official : @somax
4. E-Mail : telesales@siriwat1976.com 

บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy